tch@dms.mail.go.th 0 5213 5078

จากสถิติ ข้อมูลผู้ต้องขังในราชทัณฑ์ คดี พ.ร.บ. ยาเสพติดทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2566 พบว่ามีจำนวนผู้ต้องที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรวมทุกประเภท จำนวน 206,361 ราย ขณะนี้ที่เดือนตุลาคมในปีเดียวกันนี้มีจำนวน 204,187 ราย แม้ว่าจะมีกฎหมายปราบปรามยาเสพติดที่ทุกภาคส่วนกำลังเอาจริงเอาจัง แต่ทว่าเมื่อแยกตามลักษณะคดี อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุด วันที่ 6 พ.ย. 2566 ก็ยังพบว่า “ยาเสพติด” ครองสัดส่วนผู้ต้องขัง 204,313 คน เมื่อเทียบกับ “คดีทั่วไป” ที่มีจำนวน 69,732 คน เมื่อยาเสพติดยังเป็นภัยคุกคามสังคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จึงได้ประกาศแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ปักธงให้เป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี การแก้ไขยาเสพติด ทางหนึ่งคือการปราบปราม แต่ในอีกมุมที่หลายประเทศดำเนินการและเห็นผลเป็นรูปธรรมคือการ “มองผู้เสพเป็นผู้ป่วยและดึงออกมาสู่การบำบัด” ซึ่งก็เป็นแนวทางที่บรรจุอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ที่ระบุถึงการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ตามหลักการสันนิษฐาน สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ที่ประกาศ “Quick Win” เตรียมจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ทุกจังหวัดภาย 100 วันแรก หรือภายในเดือนธันวาคม ปี 2566 นี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติดที่ใกล้บ้าน เข้าถึงได้ง่าย สำหรับนโยบายหลักของ สธ. จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วัน มีเป้าหมายการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ

  1. จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะกลางถึงระยะยาวให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ
  2. มีหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดจังหวัด โดยปัจจุบันมีเตียงจิตเวช 7,796 เตียง หอผู้ป่วยจิตเวช (Ward) 69 แห่งใน 58 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 76.32 ของจังหวัดทั่วประเทศ
  3. มีกลุ่มงานจิตเวชยาเสพติดทุกรพ. ระดับอำเภอ ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 776 แห่ง จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชยาเสพติด เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานเฉพาะด้านยาเสพติดและจิตเวชแล้ว 626 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.67 ที่เหลืออีก 150 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการ